English
Thai
Home Product Service Order Article News Rewards
Home Product Service Order Article News Rewards
About The Refresher Thai Join Us Contact Us
refresherthai cake



Cake มีรากศัพท์มาจากภาษาของชาวไวกิ้ง (Old Norse word) ว่า "kaka"

ประวัติเริ่มจากปี 1843 คุณอัลเฟรด เบิร์ด (Alfred Bird 1811-1878) นักเคมีชาวอังกฤษได้ค้นพบ "ผงฟู" หรือ "baking powder" ทำให้เขาสามารถทำขนมปังชนิดที่ไม่มียีสต์ให้กับภรรยาของเขา อลิซาเบธ (Elizabeth) ได้เป็นครั้งแรกเนื่องจากภรรยาของเขาเป็นโรคภูมิแพ้เกี่ยวกับ ไข่ และ ยีสต์

ในราวศตวรรษที่ 13 มีการค้นพบหลักฐานการอบขนมเค้กขั้นแอดวานซ์ที่เก่าแก่ที่สุดจากชาวอียิปต์โบราณโดยมักจะเป็นรสชาติของเค้กผลไม้ และGinger bread รูปแบบเค้กทรงกลมที่เราเห็นกันทุกวันนี้ เริ่มราวกลางศตวรรษที่ 17 ในยุโรป ซึ่งเป็นช่วงที่มีพัฒนาการของเตาอบ แบบพิมพ์ขนมและน้ำตาลทราย รสชาติที่นิยมก็ยังเป็นรสผลไม้้

Cake


ย้อนหลังจากวันนี้ไปประมาณ 60 ปี ธุรกิจขนมอบในเมืองไทยไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายเหมือนในปัจจุบัน จนไม่อาจเรียกว่าเป็นธุรกิจได้ ขนมปัง ขนมเค้ก คุกกี้ ก็ไม่ได้เป็นที่คุ้นเคยของคนทั่วไป จะมีก็เพียงคนกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับอารยธรรมตะวันตกมาก่อน และผู้ที่มีความใกล้ชิดกับชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทยที่รู้จักขนมอบ และมีร้านขนมอบเพียงไม่กี่ร้าน เพราะธุรกิจขนมอบในสมัยนั้นแคบมาก ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

ต่อมาคนไทยโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ เริ่มรู้จักขนมอบมากขึ้นเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ประเทศไทยเริ่มเป็นที่รู้จักของประเทศต่างๆ มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น มีชาวต่างประเทศเข้ามาเมืองไทยทั้งนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจโรงแรมขยายตัว จึงต้องผลิตอาหารประเภทขนมอบชนิดต่าง ๆ ขึ้นเช่นขนมปัง เค้ก เพสตรี้เพื่อบริการลูกค้าชาวต่างประเทศที่ไม่คุ้นเคยอาหารไทย และนอกจากจะผลิตเพื่อบริการลูกค้าแล้ว โรงแรมยังมีบริการรับจัดเลี้ยงให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชน โดยมีการจัดประชุมสัมมนา งานพิธีมงคลสมรส งานวันเกิด และการจัดเลี้ยงสังสรรค์ ด้วยเหตุนี้ผลิตภัณฑ์ขนมอบจึงเป็นที่รู้จักและแพร่หลายมากขึ้น

Cake คนไทย


ในขณะเดียวกันก็มีร้านเบเกอรี่ที่ผลิตขนมปัง ขนมเค้ก ขนมต่าง ๆ ออกขาย ธุรกิจขนมอบเริ่มจัดว่าเป็นธุรกิจได้เมื่อสมัยสงครามเวียดนาม ประมาณ 30 กว่าปีมาแล้วประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นที่พักของทหารอเมริกัน ช่วงนั้นกิจการขนมอบเริ่มขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากความต้องการอาหารประเภทนี้สูง จนถึงกับมีผู้คิดโรงโม่แป้งสาลีขึ้นในประเทศไทย และต่อมามีโรงโม่แป้งสาลีเพิ่มขึ้นอีก 23 แห่งแต่ละโรงโม่ก็ผลิตแป้งสาลียี่ห้อต่าง ๆ ออกจำหน่ายพร้อมกับมีการสาธิตการทำผลิตภัณฑ์ จัดการฝึกอบรมแนะนำลูกค้าผู้ใช้แป้งสาลีและผู้ประกอบกิจการขนมอบซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้สามารถนำแป้งไปใช้ทำผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีความถูกต้อง นับว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แป้งสาลีเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง ธุรกิจขนมอบก็ยังดำเนินต่อไป และขยายตัวเพิ่มมากขึ้น คนไทยเริ่มบริโภคขนมปัง ขนมเค้ก คุกกี้ พาย พัฟ ฯลฯ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ขนมอบมากขึ้น นักธุรกิจหลายรายเริ่มมองเห็นลู่ทางในการลงทุนทำธุรกิจนี้ เนื่องจากเห็นว่าผลิตภัณฑ์ขนมอบเข้ามามีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น

Cake


นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานต่าง ๆ เช่น วิทยาลัยสารพัดช่าง วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงเรียนของเอกชน ที่เปิดสอนด้านขนมอบ ได้ช่วยกันเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับขนมอบมากขึ้น พร้อมกับมีตำราการฝึกปฏิบัติทำขนมอบ มีประชาชนให้ความสนใจมาฝึกอบรมรับความรู้ เพื่อไปประกอบเป็นอาชีพ หรือทำบริโภคเองภายในครอบครัว

ความเป็นมาของเค้กแต่งงาน

ในสมัยโบราณ เจ้าสาวจะไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสขนมเค้กแต่งงานเลย เนื่องจากเค้กแต่งงานในยุคเริ่มแรกนั้น ทำขึ้นเพื่อ “ปา” ใส่เจ้าสาว เค้กแต่งงานมีพัฒนาการในฐานะที่เป็นหนึ่งในบรรดาสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ที่จะขาดเสียมิได้ในพิธีแต่งงาน ในยุคที่ผ่าน ๆ มา ผู้คนจะคาดหวังว่า บุตรสืบสกุลจะติดตามมาทันทีภายหลังการแต่งงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่แน่นอนพอ ๆ กับมีกลางวันแล้วต้องมีกลางคืน

Cake แต่งงาน

ข้าวสาลีซึ่งถือกันมานานแล้วว่า เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และความเจริญรุ่งเรือง เป็นเมล็ดธัญพืชที่ใช้โปรยใส่เจ้าสาวตามพิธีการ หญิงสาวที่ยังไม่มีคู่ครองจะแย่งกันเก็บเมล็ดข้าวสาลีเพื่อเป็นเครื่องประกันว่า พวกเธอก็จะได้แต่งงานในไม่ช้า การแย่งเมล็ดข้าวสาลีนี้มีคตินิยมเช่นเดียวกับการแย่งช่อดอกไม้ของเจ้าสาวในยุคปัจจุบัน

ช่างทำขนมชาวโรมันซึ่งมีฝีมือการอบขนมเป็นที่ยกย่องเลื่องลือ เป็นผู้เปลี่ยนแปลงประเพณีปฏิบัติดังกล่าว โดยเมื่อราว 100 ปีก่อนคริสต์ศักราช พวกช่างทำขนมได้ริเริ่มอบขนมเค้กชิ้นเล็กๆ มีรสหวาน ทำจากข้าวสาลีเพื่อใช้รับประทานในงานแต่งงานแทนที่จะใช้ “ปา” อย่างไรก็ดี แขกที่มาร่วมงานไม่ค่อยชอบใจนักที่อดสนุกกับการโปรยเมล็ดข้าวสาลีใส่เจ้าสาว จึงมักจะโยนเค้กชิ้นเล็ก ๆ นี้แทน

กวีและปราชญ์ชาวโรมันชื่อ ลูครีเชียส บันทึกไว้ว่าพัฒนาการของการโยนขนมเค้กใส่เจ้าสาวลดความ “รุนแรง” ลงโดยเปลี่ยนเป็นการละเลงขนมลงบนศีรษะของเจ้าสาว และเพื่อสืบทอดความหมายในเชิงสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์คู่บ่าวสาวต้องรับประทานส่วนของขนมที่ถูกละเลงแล้วร่วมกันด้วย

ประเพณีปฏิบัตินี้แพร่หลายไปทั่วยุโรปตะวันตก ในประเทศอังกฤษเมื่อคู่บ่าวสาวรับประทานขนมแล้ว ต้องจิบเหล้าชนิดพิเศษซึ่งเรียกกันว่า “เหล้าเจ้าสาว” ตามด้วยพิธีโยนเค้กแต่งงานเพื่อเป็นเครื่องหมายให้คู่บ่าวสาว “มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง” นั้นเปลี่ยนแปลงไปอีกในสมัยกลางตอนต้น เมื่อเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง เมล็ดข้าวสาลีดิบถูกนำกลับมาใช้โปรยใส่เจ้าสาวอีกครั้งหนึ่ง ขนมเค้กซึ่งเคยอบอย่างพิธีพิถันก็เปลี่ยนเป็นเพียงขนมปังกรอบ หรือขนมปังก้อนเล็ก ๆ ชนิดนุ่มรสหวานที่เรียกว่า “สคอน” (scone) เพื่อรับประทานร่วมกันในงานแต่งงาน แขกที่มาร่วมงานก็จะอบขนมกันมาเอง ส่วนที่เหลือจะนำไปแจกจ่ายให้คนยากจน ประเพณีปฏิบัติที่ประหยัดเรียบง่ายนี้เอง เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยความช่างประดิษฐ์ประกอบกับการดูแคลนทุกสิ่งที่เป็นอังกฤษของชาวฝรั่งเศส กลับเป็นที่มาของเค้กแต่งงานเป็นชั้น ๆ ซึ่งหรูที่สุด

Cake     Scone

ตำนานเล่าว่า ทั่วทุกแห่งในเกาะอังกฤษจะถือเป็นธรรมเนียมที่จะนำขนมปังกรอบ และสคอน ซึ่งแขกนำมาช่วยงานวางซ้อน ๆ กันเป็นกองใหญ่มหึมายิ่งกองสูงเท่าใดยิ่งดี เพราะถือกันว่าความสูงของกองขนมชี้ถึงความเจริญรุ่งเรืองของคู่สมรสในอนาคต และเป็นธรรมเนียมอีกว่า เจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องแลกจุมพิตกันบนกองขนม

ในช่วงค.ศ. 1660-1669 ระหว่างสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 พ่อครัวชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง ได้ไปเที่ยวกรุงลอนดอนและเห็นพิธีการ “กองเค้ก” พ่อครัวคนนี้รู้สึกใจหายใจคว่ำกับลักษณะที่คนอังกฤษเรียงขนมเค้กซ้อน ๆ กันและบ่อยครั้งที่กองขนมพังครืนลงมา เขาจึงได้ความคิดที่จะทำขนมเค้กก้อนใหญ่เป็นชั้น ๆ เคลือบด้วยน้ำตาลไอซิง ซึ่งให้ความรู้สึกตื่นตาตื่นใจเหมาะกับพิธีแต่งงาน มากกว่ากองภูเขาขนมปังกรอบที่แสนจะธรรมดา หนังสือพิมพ์อังกฤษในสมัยนั้นพากันประสานเสียงวิพากษ์วิจารณ์ความฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่ายของชาวฝรั่งเศส

แต่ปรากฏว่าก่อนจะสิ้นสุดศตวรรษที่ 17 ช่างทำขนมชาวอังกฤษก็พร้อมใจกันทำขนมเค้กแต่งงานก้อนมหึมาเป็นชั้น ๆ บริการให้แก่บรรดาลูกค้าของพวกเขา เค้กแต่งงานโดยส่วนใหญ่จะมีขนาดใหญ่ มีรูปร่างเป็นชั้นๆเรียงกันขึ้นไป และมีการตกแต่งอย่างสวยสดงดงามด้วยครีมและน้ำตาลแต่งหน้าเค้ก ซึ่งในบางครั้งอาจมีการนำอัลมอนด์มาเป็นส่วนผสมในการทำ โดยส่วนยอดของขนมเค้กนั้นมักประดับด้วยตุ๊กตาแทนตัวบ่าวสาว หรือในบางความคิดอาจใช้เป็นรูปนก รูปแหวนทอง หรือรูปเกือกม้า ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี และความเจริญรุ่งเรืองสำหรับคู่บ่าวสาว ซึ่งลักษณะของเค้กแต่งงานที่ดีจะต้องมีเนื้อแน่นสามารถรับน้ำหนักของชั้นเค้กที่ตกแต่งอย่างสวยงามได้และที่สำคัญยังต้องรับประทานได้และอร่อยอีกด้วย สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยทักษะ ฝีมือความคิดสร้างสรรค์และความปราณีตเป็นอย่างมากจากพ่อครัว หรือผู้ทำขนม

Wedding Cake

 

ส่วนประเพณีการตัดเค้กนั้น โดยส่วนใหญ่เจ้าสาวจะต้องเป็นคนตัดเค้กเอง โดยที่เจ้าบ่าวมีหน้าที่แค่คอยช่วยเหลือ ซึ่งในประเพณีโบราณ ฝ่ายเจ้าสาวจะต้องตัดเค้กแล้วนำขนมเค้กที่ตัดแล้วไปมอบให้แก่บุคคลต่างๆ ในครอบครัวของเจ้าบ่าวเพื่อแสดงความเคารพ และแสดงให้เห็นว่าเธอกำลังจะก้าวเข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวเจ้าบ่าวนับจากนี้เป็นต้นไป อีกทั้งยังมีประเพณีที่ให้คู่บ่าวสาวป้อนเค้กให้กันและกัน คือการสื่อความหมายถึงการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องสร้างครอบครัวใหม่ด้วยกัน และเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่จะต้องดูแลกันและกันตลอดไป หลังตัดเค้กเป็นชิ้นๆแล้วฝ่ายบ่าวสาวก็จะแบ่งเค้กเหล่านั้นให้กับผู้ที่มาร่วมพิธีได้รับประทานกันซึ่งอาจจะรับประทานเลยหรือนำกลับบ้านไปฝากบุคคลที่ไม่ได้มาร่วมงานก็อาจเป็นได้ ซึ่งในประเพณีโบราณเชื่อว่า หากเพื่อนเจ้าสาวคนไหนอยากฝันเห็นเนื้อคู่ของคนในอนาคต ให้นำเค้กแต่งงานไปไว้ใต้หมอนหรือข้างหมอนแล้วนอนหลับ สาวคนนั้นจะฝันเห็นคู่ชีวิตของตน

หลังจากวันแต่งงานของคู่บ่าวสาวในยุโรปนิยมเก็บเค้กชั้นบนสุดไว้แล้วนำออกมารับประทานใหม่ในวันครบรอบแต่งงานหนึ่งปีและการฉลองอีกครั้งก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องการให้กำเนิดเจ้าตัวน้อย เพราะเหตุนี้เค้กบางส่วนในพิธีแต่งงานอาจจะถูกเก็บไว้กินเพื่อฉลองในวันครบรอบแต่งงานของบ่าวสาวในปีถัดๆ ไปใช้ฉลองในวันที่คลอดลูกคนแรกแต่โดยส่วนใหญ่จะใช้ในพิธีตั้งชื่อบุตรตามหลักศริสต์ศาสนา ซึ่งจะเก็บรักษาเค้กด้วยการนำเข้าช่องแช่แข็งเอาไว้ ส่วนใหญ่จะเก็บชั้นบนสุดของเค้กที่มักจะตกแต่งด้วยผลไม้ซึ่งสามารถเก็บรักษาเอาไว้ได้เป็นระยะเวลานานด้วยการแช่แข็ง (ในสมัยก่อนวิธีการรักษาเค้กให้เก็บไว้ได้เป็นระยะเวลานานๆ ก็คือการใช้น้ำตาลในปริมาณมากๆ เป็นส่วนผสมในการทำและแต่งหน้าเค้ก เพื่อเพิ่มความหนาแน่นและลดช่องว่างไม่ให้อากาศเข้าไปในเนื้อเค้ก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เค้กหมดอายุหรือเสียเร็วขึ้น)

ความหมายของเค้กสีขาว

White Cake

เค้กมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับเจ้าสาว เนื่องจากโดยส่วนใหญ่สีของเค้กจะเหมือนหรือเข้ากับสีชุดของเจ้าสาวด้วย หากย้อนไปดูในสมัยวิคตอเรีย เค้กที่ใช้ในพิธีแต่งงานก็เป็นสีขาวแต่ไม่ใช่เป็นเพราะความเชื่อ แต่เพราะการทำขนมเค้กเป็นสีต่างๆ ในสมัยก่อนนั้นทำได้ยากเนื่องจากส่วนผสมทุกอย่างเป็นสีขาวหมด แต่ถึงกระนั้นในความเชื่อของคนส่วนใหญ่ ขนมเค้กแต่งงานต้องเป็นสีขาว เนื่องจากสีขาวสื่อถึงความรักที่บริสุทธิ์ และความเชื่อที่ว่าเค้กสีขาวเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่มั่นคงก็ยังคงเชื่อถือกันอยู่จนถึงปัจจุบัน

โดยสรุปแล้ว “เค้กแต่งงาน” เป็นขนมหวานที่นิยมใช้เลี้ยงแขกเป็นสิ่งแรกหลังจากเสร็จสิ้นพิธีแต่งงานของคู่บ่าวสาว เป็นตัวแทนแห่ง ความรักและความสุขอีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวใหม่ของคู่บ่าวสาว ที่จะต้องใช้ชีวิตร่วมกันให้ตลอดรอดฝั่ง

Back to Article
 
Hot Line 087-516-0330
  • Olives
  • Feliz
  • Akbar
  • Schaerer
  • Crathco
  • Nuova
  • Rancilio
  • WestBend
  • Waring
  • Vitamix
  • Cofrimell
บริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ | แคเทอริ่ง | คอฟฟี่เบรค | น้ำชายามบ่าย | ค๊อกเทล | ออกร้าน | ปาร์ตี้ | เครื่องดื่ม | อาหารว่างในกล่อง (เซ๊ทอาหารว่าง)
Outside Catering Service   Catering   Coffee Break   High Tea   Cocktails   Grand Opening/Exhibition   Party   Beverage   Snack Box
COPYRIGHT © 2009 The Refresher Co., Ltd.